เพลง

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สายพันธ์ปลากัด

นับแต่การสร้างชาติไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัย การชนไก่ กัดปลา เป็นเกมการพนันที่ได้รับการจารึกว่า เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยมาแต่โบราณ อันที่จริงแล้ว เกมกีฬาการกัดปลาของชาวไทยนั้น นอกจากปลากัดแล้วยังมีปลาอีกสองชนิด ที่นำมากัดแข่งขันกันคือ ปลาหัวตะกั่ว และปลาเข็ม แต่ก็ไม่แพร่หลาย ติดใจคนทั่วไปเหมือนปลากัด ทั้งนี้เนื่องมาจากสัตว์น้ำชนิดนี้นอกจากจะมีน้ำอดน้ำทนในการต่อสู้เป็นระยะเวลานาน ๆ แล้ว ลีลาการต่อสู้ก็เต็มไปด้วย ชั้นเชิงและศิลปะ และเหนือสิ่งอื่นใดนักรบจิ๋วเหล่านี้จะสง่างามยิ่งในระยะเวลาที่เข้าต่อสู้ ความสวยงามตามธรรมชาติของปลากัดจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ ทำให้คนนิยม ปลาชนิดนี้จึงเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงสวยงามและนักกีฬาตัวโปรดของคนไทย

















ปลากัดป่า

ปลากัดป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง ที่พบในธรรมชาติ ตามท้องนา หนองบึง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่เด่นมากนัก ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาล เทาหม่น หรือสีเขียว และอาจมีแถบดำจาง ๆ พาดตามความยาวของลำตัว อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความพิเศษของปลากัด อยู่ที่ความเป็นนักสู่โดยธรรมชาติเมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือการที่ปลาตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูก กระตุ้น ในสภาวะตื่นตัวครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นเยื่อหุ้มเหงือขยายพองตัวออก พร้อมกับสีน้ำเงินหรือแดงที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนในโทน ต่าง ๆ ทำให้ดูสง่าอาจหาญ และสวยงาม
ปลาป่าแท้นั้นส่วนมากครีบ หางและกระโดงที่ภาษานักแปลงปลาเรียกรวมว่า "เครื่อง" จะมีสีแดงเกือบตลอดมีประดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีเส้น เขียว ๆ แซมบ้าง อย่างที่เรียกว่าเขียวก็มีเพียงแต้มเขียวอ่อน ๆ ที่กระโดงเท่านั้น เวลาถอดสีปกติทั้งตัวและเครื่องเป็นสีน้ำตาลจืด ๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ที่ห้อยแช่น้ำอยู่ ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของปลากัดก็คือเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่อยู่บริเวณเหงือกทำให้ปลาสามารถใช้ออกซิเจน จากการฮุบอากาศได้โดยตรง ปลากัดจึงสามารถทนทานดำรงชีวิตอยู่ได้ในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ ตำนานเล่าขานของปลากัดจึงค่อนข้างแปลกประหลาด ไปกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ บทความ "ธรรมชาติของปลากัดไทย) โดย ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ที่เขียนไว้เมื่อปี 2496 ได้พูดถึงการขุดหาปลากัดในรูปูนา ตามขอบหนอง ชายบึง ริมคู และรางน้ำ ซึ่งปลากัดเข้าไปอยู่อาศัยปนอยู่กับปูในรูตั้งแต่ต้นฤดูหนาว เมื่อน้ำเริ่มลดไป จนตลอดหน้าแล้งปูก็จะขุดรูลึก ตามระดับน้ำลงไปเรื่อย ๆ ปลากัดจะออกมาแพร่พันธุ์ใหม่ในต้นฝนในเดือนพฤษภาคม กระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารก ๆ ในเขตน้ำตื้นปลากัด เป็นปลาที่ชอบน้ำตื้น จึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ที่มีน้ำลึก
อันที่จริงในธรรมชาติการต่อสู่กันของปลากัดไม่จริงจังเท่าไรนัก ส่วนมากมักแผ่พองครีบหางขู่กันเพื่อแย่งถิ่น บางตัวเห็นท่าไม่ดีก็อาจเลี่ยงไปโดยไม่ ต่อสู้กันเลยก็มี แต่บางคู่ก็ต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ปลาตัวผู้ตัวไหนที่ยึดชัยภูมิเหมาะได้ที่ ก็จะก่อหวอดไว้แล้วพองตัวเบ่งสี เกี้ยวตัวเมียที่ผ่านไปมา เพื่อผสมพันธุ์วางไข่

ปลาลูกหม้อ


ปลาลูกหม้อหรือปลาหม้อนั้นเป็นปลากัดที่ถูกนำมาคัดสายพันธ ุ์โดยนักพันธุศาสตร์สมัครเล่นชาวไทยที่มุ่งหวังจะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่า ของนักเลงปลาเก่าอย่าง หลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบสุวรรณนคร) คาดว่า ปลาลูกหม้อน่าจะถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2430 ซึ่งท่านจำได้ว่า ก่อนหน้านั้น ยังต้องจับปลาป่ามากัดพนันกันอยู่ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยอยู่ตามรูปูในหน้าแล้งมาขังไว้ในโอ่ง มาเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝนก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่เลี้ยงมาไม่ได้ การเล่นปลาขุดนี้ยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ ปี 2496 หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกจะเรียกว่า "ปลาสังกะสี" ซึ่งสัณนิษฐานว่าน่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ถูกกัดขาดง่ายเหมือนปลาป่าและปลาขุด ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ สีสันลักษณะต่างจากปลาป่าและปลาขุด นักเลงปลาป่าจึงมักไม่ยอมกัดพนันด้วย จึงต้องกัดแข่งขันระหว่างปลาสังกะสีด้วยกันเอง ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงามก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมา ก็จะได้ปลาลักษณะรูปพรรณสีสันที่สวยงามแปลกออกไปตามอัธยาศัยของผู้ผสมพร้อม ความเก่ง และอดทนในการกัดจะว่าไปแล้วพันธุศาสตร์สัตว์น้ำของเมืองไทยนับได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคนี้



                                    

 คำว่า "ลูกหม้อ" นั้นมาจากการใช้หม้อดินในการเพาะและอนุบาลปลากัด ในระยะแรก ๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ที่สร้างมาแท้ ๆ กับมือของนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้และให้มีสีสันที่สวยงามตามความพอใจของเจ้าของ ปลากัดลูกหม้อจึงมีรูปร่าง หนาใหญ่กว่าปลากัดชนิดอื่น สีสันสวยงามดูแล้วน่าเกรงขามกว่าพันธุ์อื่น ๆ สีส่วนมากจะเป็นสีน้ำเงิน แดง เทา เขียว คราม หรือแดงปนน้ำเงิน ใน การเล่นปลากัดในยุคก่อนนั้นปลาลูกหม้อจะมีสองประเภทคือ "ลูกแท้" และ "ลูกสับ" ลูกแท้ หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ ่ที่มาจากครอกเดียวกัน และลูกสับหมายถึงลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากคนละครอก ปลากัดลูกหม้อนี้ถ้าเอาไปผสมกลับกับปลาป่าลูกปลาก็จะ เรียกว่า "สังกะสี" เช่นเดียวกัน ซึ่งปลาสังกะสีซึ่งเกิดจากการผสมกลับแบบนี้ส่วนมากก็จะมีชั้นเชิงและน้ำอดน้ำทนในการกัดสู้ลูกหม้อไม่ได้ "ลูกหม้อ" จึงเป็นสุดยอดของปลากัดสำหรับนักเลงปลาทั้งหลาย ในระยะหลัง ๆ ก็อาจมีการพูดถึงสายพันธุ์ "มาเลย์" หรือ "สิงคโปร์" ซึ่งว่ากันว่ากัดเก่งหนังเหนียวแต่โดยแท้จริงก็คือปลาลูกหม้อ นั่นเอง เพียงแต่ว่าในระยะต่อมามีการประยุกต์ใช้กลวิธีการหมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่น ๆ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา ที่เชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้าได้ยาก ควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์ ถึงอย่างไร ลูกหม้อก็คือลูกหม้อที่เราชาวไทยพัฒนามาแต่โบราณแม้จะถูกนำไปพัฒนาสายพันธุ์ในที่อื่นก็ยังคงเป็นลูกหม้อไทยตัวเดิมนั่นเอง


ลีลาการต่อสู้ของปลากัด





ปลากัดป่านั้นเมื่อนำมากัดกัน จะมีน้ำอดน้ำทนไม่มากนัก ระยะเวลาการต่อสู้ของปลาพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่เกิน 15-20 นาที แต่ลูกหม้อที่มีการคัด สายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องสามารถต่อสู้ได้นานนับชั่วโมง บางคู่อาจกัดกันข้ามวันข้ามคืน แต่โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 3 ชั่วโมง ปลากัด สามารถต่อสู้อย่างต่อเนื่องได้นาน ๆ โดยไม่ต้องพักยก มีคั่นเพียงการโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่ออยู่ในสภาพเตรียมต่อสู้ปลา จะมีการแผ่ครีบของเหงือก และเปล่งสีเต็มที่ หันหัวไปในทางเดียวกันโดยตัวใดตัวหนึ่งอยู่เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย ปลาจะอยู่ในท่านี้ในระยะ เวลาสั้น ๆ เป็นวินาทีหรือหลายนาที แล้วจะเริ่มเข้าโจมตีกัดอย่างรวดเร็ว อาวุธหลักที่ใช้ทำร้ายศัตรูคือฟัน การโจมตีจะต่อเนื่องรุนแรง โดยมีระยะ เวลาพักที่ปลาแยกตัวออกมาอยู่ในท่าเตรียมพร้อมในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วเข้าต่อสู้กันอีก จุดหลักสำหรับการโจมตีคือครีบก้น ครีบหาง และครีบหลัง ส่วนครีบอกและตะเกียบนั้น มักไม่ได้รับความสนใจมากนัก เมื่อการต่อสู้ผ่านไปเรื่อย ๆ ครีบเดี่ยวเหล่านี้จะถูกกัดขาดวิ่นไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งเหลือ แต่โคนของก้านครีบ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการว่ายน้ำและควบคุมทิศทางลดลง จุดอื่นที่เป็นเป้าโจมตีของปลาคือด้านข้างลำตัว การกัดบริเวณ นี้อย่างรวดเร็วอาจทำให้เกล็ดร่วงหลุด แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำให้ถึงกับเป็นแผลบาดเจ็บ ยกเว้นบริเวณเหงือที่บางครั้งอาจถูกกัดขาดเป็นแผล ใน การพัฒนาสายพันธุ์ในระยะหลัง ๆ ทำให้ได้ปลากัดที่ฉลาดรู้จักที่กัดเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ สามารถกัดเฉพาะที่ที่เป็นจุดสำคัญ ๆ และกัดได้แม่นยำและ หนักหน่วง
เมื่อปลาถูกโจมตีซึ่ง ๆ หน้าไม่สามารถหลบหลีกได้ทัน ปลากัดจะประสานปากเข้ากัดรับ หันส่วนหัวเข้ากัดกันล็อกคขากรรไกรแน่น ท่านี้นักเลงปลา เรียกว่า "ติดบิด" ปลาจะปล่อยตัวตามยาวทำให้ส่วนที่เหลือของลำตัวหมุนบิดเป็นเกลียว จนจมลงพื้นและคงอยู่ท่านี้ประมาณ 10-20 วินาที จึงแยกจากกันเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศแล้วกลับมาต่อสู้กันใหม่ในท่าเดิม จริยธรรมของนักเลงแสดงให้เห็นในช่วงนี้ที่ไม่เคยมีปลาตัวไหนถูก ลอบกัดขณะขึ้นฮุบอากาศในการต่อสู้บางครั้งอาจจะติดบิดถึง 20 ครั้งจึงจะมีการแพ้การชนะ
การแพ้ชนะของปลากัดส่วนใหญ่เกิดจากการยอมแพ้เพราะเหนื่อยและสูญเสียความอดทนมากกว่าถูกพ่ายแพ้จากการบาดเจ็บ เมื่อปลากัดยอมแพ้ ไม่ต้องการต่อสู้จะว่ายน้ำหนี หรือหันด้านหางเข้าหาเมื่อคู่ต่อสู้เข้าโจมตีก็ถึงเวลาที่จะต้องจ่ายเงินและหิ้วปลากลับบ้าน
จากบันทึกของ เอช เอ็ม สมิต ที่ปรึกษาทางด้านสัตว์น้ำของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ได้ชมดูการกัดปลามากกว่า 100 ครั้ง ยืนยันว่าการกัด ปลาไม่โหดร้ายป่าเถื่อนสยดสยองเหมือนที่เข้าใจกัน แต่เป็นการต่อสู้ที่เร้าใจเต็มไปด้วยศิลปะและความงาม ในลีลาการเคลื่อนไหว ความสง่า คล่องแคล่ว เฉียบแหลม และอดทน เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้อันยืดเยื้อปลาทั้งคู่อาจอยู่ในสภาพไม่น่ามองเนื่องจากครีบถูกกัดขาดวิ่น หรือเกล็ดหลุด แต่ในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถงอกกลับมาเป็นปกติใหม่จนไม่พบร่องรอยของการบาดเจ็บ
โดยปกตินักเลงปลาทั้งหลายจะมีวิธีการซ้อมปลาเพื่อให้พร้อมในการต่อสู้ โดยอาจใช้วิธีไล่น้ำโดยใช้มือกวนน้ำในอ่างให้น้ำวนอย่างแรง แล้วปล่อยปลา ให้ว่ายทวนน้ำหรือฝึก ออกกำลังโดยปล่อยปลากัด "ลูกไล่" ที่เป็นปลาไม่สู้ลงไปในโหลให้ซ้อมไล่กัด

นักสู้ผู้เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ
นอกจากการรักษากฎกติกา มารยาทในสังเวียนการต่อสู้แล้ว ความน่ารักอีกอย่างหนึ่งของปลากัดก็คือปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรัง ดูแลไข่และตัวอ่อน รังจะเป็นหวอดที่ก่อขึ้นจากฟองอากาศที่ฮุบเข้าไปผสมกับเมือกเหงือกในปาก แล้วนำมาพ่นเป็นหวอดบริเวณผิวน้ำ เพื่อเป็นที่สำหรับฟองไข่และตัวอ่อน เกาะติด หลังจากเกี้ยวพาราสีตัวเมียจนเป็นที่ยินยอมพร้อมใจแล้วก็จะทำการรัดโดยตัวเมียจะปล่อยไข่ และตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกันภายนอก ไข่จะพรั่งพรูออกมาเป็นชุด ๆ และจมลงสู่พื้นอย่างช้า ๆ พ่อแม่ปลาจะใช้ปากฮุบฟองไข่แล้วนำไปพ่นไว้ที่ฟองหวอดจนกว่าไข่จะหมด ซึ่งอาจใช้เวลานับ ชั่วโมงหลังจากนั้นพ่อปลาจะเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวังไข่และลูกอ่อน ลูกปลาที่เพิ่งฟักออกเป็นตัวจะฟักอยู่ภายใต้หวอดจนไข่แดงถูกใช้หมดและครีบ พัฒนาสมบูรณ์ หากลูกปลาพลัดตกจากหวอด พ่อปลาจะทำหน้าที่พาลูกกลับมาพ่นไว้ที่หวอดดังเดิม และคอยเสริมหวอดด้วยฟองอากาศที่พ่นใหม่ อยู่เรื่อย ๆ ในระยะนี้พ่อปลาจะยุ่งทั้งวันโดยไม่มีการพักผ่อน นอกจากจะต้องซ่อมแซมหวอดและคอยดูแลลูกปลาที่พลัดตกจากหวอดแล้ว ก็จะต้อง เฝ้าระวังศัตรูที่จะเข้ามากินลูกอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ปลาที่จะต้องถูกขับไล่ให้ไปอยู่ห่าง ๆ เนื่องจากชอบกินลูกของตัวเอง

ศัพท์ของนักเลงปลากัด
ถ้าพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่าปลากัดมีอิทธิพลต่อสังคมไทยไม่น้อย คำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในวงนักเลงปลาได้กลายเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยอย่าง แพร่หลายตั้งแต่ "ลูกหม้อ" ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีกำเนิดผูกพันอย่างแท้จริงเหมือนกับปลาลูกหม้อที่คัดสายพันธุ์ เลือกสรรลักษณะมาอย่าง ต่อเนื่อง "ลูกไล่" ซึ่งหมายถึงคนที่ถูกข่มอยู่ตลอดเวลา ดั่งปลาลูกไล่ที่ไม่ยอมสู้ปลาตัวอื่น "ก่อหวอด" หมายถึงการคิดกระทำ มิดีมิร้ายซึ่งเป็นอาการเตรียมการของปลากัดตัวผู้ที่วางแผนจะผสมพันธุ์กับตัวเมีย "ถอดสี" อาการตกใจยอมแพ้ของปลากัด และ "ติดบิด" ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาษามวยที่ต่อยแล้วกอดกันแน่น คำเหล่านี้ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นคำธรรมดา ซึ่งคนส่วนใหญ่ จะไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเป็นคำศัพท์ในวงนักเลงปลากัด

ปลากัดโดย ปลากัดจีน ปลากัดเขมร





ตามปกติเมื่อพูดถึงปลาลูกหม้อ หรือปลาหม้อ ก็จะมีคำว่าปลาจีนคู่กันอยู่เสมอ จนคนหลายคนเข้าใจผิดว่าปลาจีนเป็นปลากัดอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมา จากประเทศจีน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วปลาทั้งสองชนิดนี้ก็เป็นปลากัดไทยที่มีพื้นเพมาจากปลากัดป่าของเราทั้งคู่เพียงแต่เมื่อมีการผสมคัดพันธู์เพื่อให้ได้ ปลาลูกหม้อที่กัดเก่งมีลักษณะที่ดีสวยงาม ก็เผอิญได้ปลาชนิดใหม่ที่ครีบและหางยาวออกมามากกว่าปกติ หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ครีบ และหางที่แผ่กว้างขึ้น มีลักษณะสวยงามขึ้น มีสีสันใหม่ ๆ ที่สวยงาม โดยวัตถุประสงค์หลักที่จะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะลักษณะครีบที่ยาว รุ่มร่ามและสีสันฉูดฉาด เหมือนตัวงิ้ว จึงเรียกกันว่า ปลาจีน เลยทำให้คนเข้าใจผิดกันไปมากมาย ส่วนปลาเขมรนั้นเป็นปลากัดเผือก หรือ ปลากัดสีอ่อน เริ่มพัฒนาและเลี้ยงกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 แรก ๆ มีมากในประเทศเขมร โดยสรุปทั้งหมดก็เป็นปลาที่เกิดจากปลาป่าสายพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่เมื่อมีการผสมคัดพันธุ์ที่ถูกต้องได้จังหวะ ลักษณะที่สวยงามมากมายของปลากัดที่เป็นลักษณะพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ในปลาป่า เมื่อมีการผสม คัดพันธุ์ให้ถูกต้องได้จังหวะความสวยงามเหล่านี้ก็จะปรากฎออกมาให้ได้ชื่นชม ในปัจจุบันจึงมีปลากัดรูปแบบและสีสันใหม่ ๆ ปรากฎออกมาอยู่เสมอ ๆ


การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์ครีบยาว
โดยความดึงดูดใจของความสวยงาม ปราดเปรียว ร่าเริง ความสามารถแสดงออกซึ่งอารมณ์เมื่อถูกกระตุ้นและความที่เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ปลากัดไทย ได้ถูกฝรั่งนำไปเลี้ยงในยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 และต่อมาก็แพร่ไปที่สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และได้มีการผสมคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ ้ปลากัดที่มีลักษณะ รูปแบบ สีสันต่าง ๆ มากมายปลากัดไทยที่นำไปเลี้ยงในประเทศต่าง ๆ ในช่วงนั้นเป็นปลากัดครีบยาวที่เรียกว่าปลาจีนเป็นหลัก ใน ระยะแรกการปรับปรุงพันธุ์จะมุ่งที่จะปรับปรุงสีที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ สวยงาม และสร้างสีใหม่ ๆ เป็นหลัก ในระยะประมาณ 70-80 ปีที่ผ่านมา ปลาที่ มีลำตัวสีอ่อน ที่เรียกปลากัดเขมรเป็นที่นิยมมาก และมีการพัฒนาสีสันต่าง ๆ กันอย่างหลากหลาย เช่นเดียวกับปลากัดสายพันธุ์ลิบบี้ ที่มีครีบยาว สวยงามมากกว่ากติถัดมาในช่วง 50-60 ปี ที่แล้วนักคัดพันธุ์ปลากัดทุ่มเทไปกับการพัฒนาปลากัดสีดำ ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากในช่วงนั้น จนมาถึงระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมาจึงมีความสนใจในการพัฒนารูปแบบและรูปทรงของครีบปลากัดกันอย่างจริงจังปลากัดที่นิยมมากในยุคนั้นคือปลาหางสามเหลี่ยม หรือ "เดลต้า" ซึ่งหางกางทำมุม 45-60 องศา กับโคนหาง และที่เป็นที่นิยมสูงสุดคือ "ซุปเปอร์ เดลต้า" สีเดียวที่หางแผ่กางใหญ่กว่าปกติ
เมื่อสิบปีที่แล้วมานี้ วงการปลากัดก็ต้องตื่นเต้นกับ "ฮาล์ฟมูนเดลต้า" ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศ เยอรมันนีและฝรั่งเศส ปลากัดชนิดนี้มีครีบหางแผ่กว้างเป็นครึ่งวงกลม ทำมุม 180 องศากับโคนหาง หลังจากนี้ก็มีพระจันทร์ครึ่งซีกประเภทสองหาง ตามออกมา และในช่วงนี้นักเพาะพันธุ์ปลากัดก็หลงไหลอยู่กับ ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกหรือฮาล์ฟมูลเดลต้าอยู่หลายปี จนเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว นักเพาะพันธุ์ชาวสิงคโปร์ก็ผลิตปลากัด "คราวด์เทล" หรือ "หางมงกุฎ" ออกมาให้วงการตื่นเต้นกันอีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้จากการผสม ปลากัด "หางจัก" หรือ "หนามเตย" ที่พบอยู่เสมอ ๆ กับ "เดลต้า" หรือ "ฮาล์ฟมูนเดลต้า" จึงทำให้ได้ปลา ที่หางแผ่รูปสามเหลี่ยมจนถึงครึ่งวงกลมและมีขอบ เป็นจักรหรือเป็นซี่ในระยะปีสองปีที่ผ่านมานักคัดพันธุ์ทั้งในไทยและต่างประเทศได้ปรับปรุงปลากัด หางมงกุฏ จนได้รูปแบบใหม่ ๆ ออกมามากมาย และเริ่มมีการผสมกลับมายังปลาลูกหม้อ เพื่อความสมดุลย์ระหว่างครีบและลำตัวใน "เดลต้า" และ "ฮาล์ฟมูนเดลต้า" เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันผู้เพาะเลี้ยงปลากัดในประเทศไทยหลายรายสามารถผลิตสายพันธุ์ปลากัดเหล่านี้ได้ใน ระดับดี ทำให้การปรับปรุงพันธุ์ปลากัดครีบยาวในบ้านเราก้าวขึ้นไปทัดเทียมไม่น้อยหน้ากับต่างประเทศ

การพัฒนาปลากัดลูกหม้อเพื่อเป็นปลาสวยงาม
ในขณะที่การพัฒนาปลากัดครีบยาวเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ปลากัดสวยงามในรูปแบบสีสันต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับปลากัดลูกหม้อนักเพาะพันธุ์ไทยก็ยังเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อการกัดแข่งขันเป็นหลัก ปลากัดครีบยาว หรือที่เรียกว่าปลาจีนในประเทศ ก็ขาดการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นปลาที่ถูกจัดอยู่ในระดับคุณภาพค่อนข้างต่ำด้วยความห่วงใยในปลาสวยงาม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเพชรน้ำหนึ่งของ ประเทศไทย ที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยไปทั่วโลกในนาม "ปลานักสู้แห่งสยาม" (Siamese Fighting Fish)
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เริ่มดำเนินการที่จะฟื้นฟูสายพันธุ์ปลากัดในเมืองไทย โดยได้เริ่มการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับ การปรับปรุงสายพันธุ์และมาตรฐานปลากัดในระดับสากล และได้เริ่มการจัดงานประกวดปลากัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานวันเกษตรแห่งชาติที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งได้จัดประกวดต่อเนื่องกันมาทุกปี จากนั้นมาทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงก็ได้เพิ่มรายการ ประกวดปลากัดในงานวันประมงน้อมเกล้าที่จัดทุกปี และมีการจัดประกวดกันอย่างต่อเนื่องโดยชมรม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงนี้เองที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาลูกหม้อเพื่อเป็นปลาสวยงามกันอย่างเต็มที่ ทำให้ได้ปลากัดลูกหม้อที่มีสีสันสวยงาม ทั้งสีเดี่ยว สีผสม และลวดลายต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันรูปแบบสีสันของปลากัดลูกหม้อได้พัฒนาไปอย่างมากมายในทุกโทนสี และกลายเป็นปลาสวยงามอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายขึ้น และก็นับเป็นความภูมิใจของคนไทยที่บุกเบิกการพัฒนาปลาสายพันธุ์นี้อย่างต่อเนื่องก่อนชาติอื่น ๆ ไม่เหมือน ปลาครีบยาวหรือปลาจีนที่เราพัฒนาไปได้เพียงระดับหนึ่งแล้วก็หยุดอยู่กับที่ จนชาติอื่น ๆ นำไปพัฒนาจนไปค่อนข้างไกลกว่าคนไทยจะได้เริ่มให้ ความสนใจกลับมาพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดครีบยาวอีกครั้ง
รูปทรงของครีบนอกจากจะถูกพัฒนาให้ได้รูปแบบสวยงามตามปกติแล้วก็ยังมีการพัฒนาปลาที่ครีบหางแบ่งเป็นพู 2 ข้าง เป็นปลากัดหางคู่ซึ่งก็จะมี รูปลักษณะในหลาย ๆ รูปแบบทั้งเว้าลึก เว้าตื้น ปลายโค้งมนรับกัน หรือปลายแปลมแยกเป็นสองส่วน หรือเป็นลักษณะอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งในปลาครีบยาว และในปลาลูกหม้อ ปลากัดหางคู่จะมีโคนหางใหญ่กว่าปกติเพื่อรองรับหางที่แยกเป็นสองส่วน มีลำตัวอ้วนสั้นกว่าปลาหางเดี่ยวเล็กน้อย และครีบหลัง จะมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับครีบหาง

ลักษณะที่ดีของปลากัด
การดูลักษณะปลากัดจะดูเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ สี รูปทรง (ครีบและลำตัว) และกริยาอาการ ปลาที่สมบูรณ์มีลักษณะที่ดีจะต้องมีอาการกระฉับกระเฉง มีสีสันสวยงาม มีความสมดุลย์ระหว่างขนาดและลักษณะของครีบและลำตัว และมีครีบที่ได้ลักษณะสวยงาม ปลากัดมีครีบเดี่ยวสามครีบ คือ ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้น และมีครีบคู่สองคู่คือครีบท้องหรือทวนหรือตะเกียบและครีบอกซึ่งอยู่ติดบริเวณเหงือก

ครีบหาง เป็นครีบที่มีรูปแบบหลากหลายมากที่สุด รูปแบบโดยทั่วไป สำหรับปลาหางเดี่ยวอาจเป็นหางกลม หางครึ่งวงกลม หางรูปสามเหลี่ยม หางกลมปลายแหลม หางย้วย และหางรูปใบโพธิ์ หางทุกแบบควรมีการกระจาย ของก้านครีบเท่ากัน ระหว่างส่วนบนและส่วนล่างของเส้นที่ลากผ่าน แนวขนานลำตัว หางควรแผ่เต็มสมบูรณ์ได้สัดส่วน ในกรณีของปลาหางคู่ลักษณะหางอาจเป็นลักษณะที่เชื่อมต่อกันจนปลายหางเกือบเป็นเส้นตรง หรือเว้าเล็กน้อย หรือเว้ามากเป็นรูปหัวใจ หรือหางแยกที่ซ้อนทับเกยกัน หรือหางที่แยกจากกันเต็มที่โดยไม่ซ้อนทับ หรือเป็นหางที่เว้าลึกในระดับ ต่าง ๆ แต่ยังไม่แยกกันเด็ดขาด

ครีบก้น ลักษณะครีบที่ดีควรจะมีขอบครีบส่วนหน้าและส่วนหลังขนานกันและค่อย ๆ โค้งไปทางด้านหลัง ขอบด้านหน้าและขอบด้านหลัง จะต้องไม่เรียวแหลมเข้าหากัน ลักษณะที่ดีจะต้องแผ่กว้างทำมุม และซ้อนทับดูเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง แต่ไม่เชื่อมต่อกับครีบหาง

ครีบท้อง ลักษณะควรเหมือนใบมีดที่มีด้านคมอยู่ด้านหลัง ขอบด้านหน้าโค้งเข้าเล็กน้อย ปลายแหลม ครีบทั้งคู่ควรมีความยาวและขนาด เท่ากัน และไม่ไขว้กัน ครีบจะต้องไม่สั้นหรือกว้างเกินไป และไม่ยาวหรือแคบเกินไป

ครีบอก ควรเป็นครีบที่สมบูรณ์กว้างและยาว

ลักษณะสีของปลากัด
โดยสรุปสีของปลากัดที่เป็นมาตรฐาน จะมีรูปแบบพื้นฐาน 5 รูปแบบ คือ สีเดี่ยว สองสี ลายผีเสื้อ ลายหินอ่อน และหลากสี

ปลากัดสีเดี่ยว

ปลากัดสีเดี่ยว เป็นปลากัดที่มีสีเดียวทั้งลำตัวและครีบ และเป็นสีโทนเดียวกันทั้งหมด ปลากัดสีเดี่ยวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปลากัดสีเดี่ยว สีเข้ม และปลากัดสีเดี่ยวสีอ่อน และอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ลงไปได้อีกตามรายละเอียดของสี ปลากัดสีเดี่ยวที่สมบูรณ์จะต้องไม่มีสีอื่นใดปะปนใน ส่วนของลำตัวและครีบเลย ยกเว้นที่ดวงตา และเหงือก

ปลากัดสองสี
ลักษณะที่สำคัญของปลากัดสองสี คือลำตัวจะต้องมีสีเดียว และครีบทั้งหมดจะต้องมีสีเดียวเช่นกัน แต่สีของครีบ จะต้องต่างกับสีของลำตัว ปลากัด สองสีอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีเข้ม ปลากัดสองสีชนิดนี้จะมีลำตัวสีเข้มสีใดสีหนึ่ง เช่น แดง ดำ น้ำเงิน เขียว และครีบก็ต้องเป็นสีเดียวที่เป็น สีอื่น ที่ไม่เหมือนสีของลำตัวโดยอาจเป็นสีเข้มอื่น ๆ หรือเป็นสีอ่อนก็ได้ ลักษณะที่สำคัญของปลากัดสองสีลำตัวสีเข้มที่ดีคือ มีสีลำตัวและสีครีบตัดกัน ัชัดเจน และสีของลำตัวและสีของครีบแยกกันตรงบริเวณที่ครีบต่อกับลำตัว

2. ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีอ่อน เป็นปลากัดที่มีลำตัวสีอ่อนสีใดสีหนึ่งและมีครีบอีกสีหนึ่งที่แตกต่างจากสีของลำตัวอาจเป็นสีอ่อนหรือเข้ม ก็ได้ ลักษณะที่สำคัญของปลากัดสองสีลำตัวสีอ่อนที่ดีคือสีลำตัวและสีครีบต้องตัดกันชัดเจน ครีบที่มีสีเข้มจะดีกว่าครีบสีอ่อน สีของลำตัวและสีของ ครีบแยกกันตรงบริเวณส่วนต่อระหว่างครีบและลำตัว

ปลากัดสีลวดลาย
ปลากัดที่อยู่ในประเภทนี้เป็นปลากัดที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทสีเดี่ยวและสองสี ประกอบด้วยกลุ่มย่อย ๆ ดังนี้
(1) ปลากัดลายผีเสื้อ
ปลากัดลายผีเสื้อเป็นปลากัดที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะที่บริเวณครีบ โดยครีบจะมีสีเป็นแถบ ๆ ขนานกับเส้น วงรอบลำตัว การพิจารณาลักษณะ ที่ดีของปลากัดลายผีเสื้อ จะพิจารณาที่การตัดกันของแถบสี และความคมของขอบสีเป็นหลักไม่ใช่ดูที่สีของลำตัวและครีบเหมือนทั่ว ๆ ไป ปลากัดที่ มีสีของครีบซึ่งแถบสีด้านในเป็นสีเหลืองและแถบด้านนอกเป็นสีเหลืองอ่อนจึงไม่จัดอยู่ในประเภทลายผีเสื้อ แนวของแถบสีบนครีบควรลากเป็นรูปไข่ รอบตัวปลา ปลากัดลายผีเสื้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- ลายผีเสื้อ 2 แถบสี ครีบจะประกอบด้วยแถบสีที่ตัดกันชัดเจน 2 แถบ ลักษณะที่ดีแถบสีทั้งสองควรจะมีความกว้างเท่ากัน เป็นคนละครึ่งของความ กว้างของครีบ
- ลายผีเสื้อหลายแถบสี หมายถึงปลากัดลายผีเสื้อที่สีของครีบมีตั้งแต่ 3 แถบขึ้นไป ลักษณะที่ดีความกว้างของแถบสีแต่ละแถบควรจะเท่ากับความ กว้างของครีบหารด้วยจำนวนแถบสี สีของลำตัวและสีของครีบแถบแรกที่อยู่ชิดลำตัวอาจเป็นสีเดียว สองสี ลายหินอ่อน หรือหลากสีก็ได้

(2) ปลากัดลายหินอ่อน
ปลากัดลายหินอ่อนเป็นปลากัดในชุดของปลาที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะ เช่นเดียวกันโดยครีบจะไม่มีแถบสี และบนลำตัวจะมีสีอื่นแต้มเป็น ลวดลายหินอ่อน ปลากัดลายหินอ่อนแบ่งออกเป็นชนิดหลัก ๆ 2 ชนิด
 ลายหินอ่อนธรรมดา ปลากัดชนิดนี้จะไม่มีสีแดง เขียว น้ำเงิน และเทา ปรากฎในลายหินอ่อน บนครีบก็จะไม่ปรากฏสีเหล่านี้เช่นกัน ปลาจะมีสีดำเข้ม หัวหรือหน้าขาว ลวดลายจะประกอบด้วยสีดำ สีเนื้อ และสีขาวเท่านั้น
ลายหินอ่อนสี สีบริเวณหน้าและคางยังคงลักษณะเป็นสีขาว หรือสีเนื้อ แต่ลำตัวและครีบอาจปรากฏสีผสมของสีแดง เขียว น้ำเงิน และเทา ลำตัวของปลากัดลาย หินอ่อนสีอาจประกอบด้วยสีเหล่านี้ในลวดลาย แต่จะต้องมีสีเนื้ออยู่

รูปปลากัด










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น